วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ศึกษาเรื่องของคนพาล

ไม่คบคนพาล-ให้คบบัณฑิต-หลวงพ่อตอบปัญหา...คนพาลคือ คนที่มีนิสัยคิดและทำความชั่วเป็นปกติ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วเป็นปกติ ไม่ใช่นานๆ ครั้ง ไม่ใช่พลั้งเผลอ 

โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC

Q1: คนพาลมีลักษณะอย่างไร คบแล้วมีผลเสียอย่างไร?
Q2: ถ้าเราจำเป็นต้องอยู่ในสังคมทำงานกับคนพาลจะวางตัวอย่างไรดี?
Q3: บัณฑิตแบบไหนที่เราควรจะคบหาด้วย ถ้าคบแล้วดีอย่างไร?

คำ ถาม: กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ มงคลชีวิตข้อแรก สอนให้เราไม่คบคนพาล ก่อนอื่นอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า คนพาลมีลักษณะอย่างไร คบแล้วมีผลเสียอย่างไรเจ้าค่ะ

คำตอบ: การจะดูว่า ใครเป็นคนพาลหรือคนดีนั้น ยากพอสมควร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้มาตรฐานในการวัดมาตรฐานคนไว้ คือเอากรรมหรือการกระทำเป็นตัววัด คือคนทำกรรมดีก็เรียกว่าคนดี คนทำกรรมชั่วก็เรียกว่าคนชั่ว


คนพาลคือ คนที่มีนิสัยคิดและทำความชั่วเป็นปกติ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วเป็นปกติ ไม่ใช่นานๆ ครั้ง ไม่ใช่พลั้งเผลอ แต่เป็นอาชีพ เป็นอาจิณเลย

ตั้งแต่คิดโลภ พยาบาท เอาเปรียบ อิจฉาตาร้อน เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่าคิดชั่ว

พูดชั่ว โกหก พูดคำหยาบ ใส่ความเขา นินทาเขาเป็นประจำ

ทำชั่วเป็นปกติ ตั้งแต่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขโมย คอรัปชั่น ใต้โต๊ะ บนโต๊ะแล้วก็ประพฤติผิดในกามเป็นประจำ

คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เป็นประจำอย่างนี้ ท่านเรียกว่าคนพาล คือชั่วจนกระทั่งเป็นนิสัยประจำของเขา ทางพระเรียกว่าคนพาล ชาวบ้านเรียกว่าคนชั่ว นี่คือรูปร่างลักษณะทั่วๆ ไปของคนพาล โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้กรรมของคนเหล่านั้นเป็นเครื่องตัดสิน

ถ้าหลงไปคบกับคนพาลอย่างนี้เข้า จะทำให้เสียหายมากๆ เหมือนมีของ 2 สิ่งอยู่ใกล้กัน ถ้าไม่ระมัดระวัง ก็จะซึมซับซึ่งกันและกัน เช่น เอาของแห้งกับของเปียกมาไว้ใกล้กัน เดี๋ยวมันก็เปียกเหมือนกันหมด ทำให้ของเสียหายได้

คนก็เหมือนกัน ถ้าเอาคนพาลมาอยู่ใกล้กับคนดี ก็จะทำให้ติดนิสัยพาล ติดนิสัยชั่วไปได้ เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนเอาไว้ว่า อย่าคบคนพาล ถ้าคบเข้าไปแล้ว มันจะเสียหายตั้งแต่

1. ระดับจิตใจ คือวินิจฉัยหรือการตัดสินว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควรไม่ควร เราตัดสินไม่ออกเสียแล้ว เพราะว่าคนพาลจะมีวิธีการตัดสินไม่เหมือนคนดี ที่คิดชั่วๆ เขาก็จะว่าดีแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใกล้คนพาล คบคนพาล สิ่งแรกที่จะให้ทำให้เราเสียหายคือ การวินิจฉัยจะเสียหาย เราจะเห็นผิดเป็นชอบตามเขาไป สิ่งที่ชอบก็จะเห็นเป็นผิด ฯลฯ

จากนั้นเราก็จะคิดผิด พูดผิด ทำผิด หรือว่าคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ตามเขาไปด้วย ในสังคมไหนมีคนพาลเข้าไปด้วย มันจะวุ่นวายไปหมด ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ที่ครั้งใดได้คนพาลมาบริหารบ้านเมืองไม่ว่าระดับไหน มันวุ่นไปหมด เพราะฉะนั้นเวลาแต่ละประเทศเอาคนพาลมาเป็นผู้นำ มันจะเกิดสงครามตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับโลกทุกครั้งไป

คนพาลมี 2 ประเภท
1. พาลภายนอก คือคนเลว คนชั่วทั้งหลายที่ว่ามา
2. พาลภายใน คือตัวเราเอง ครั้งใดเผลอคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เราเองก็คือคนพาล ควรรีบแก้ไข

ถ้าเราผัดผ่อนตัวเองว่า ขอแก้ตัวเป็นคนสุดท้าย รอให้คนอื่นแก้ไขกันก่อน อย่างนั้นเราคือคนพาลตัวจริง พาลข้ามชาติเลย เพราะคิดจะแก้ไขตัวเองเป็นคนสุดท้าย

คำถาม: หลวงพ่อเจ้าคะ ถ้าเราจำเป็นต้องอยู่ในสังคมทำงาน ที่ต้องเจอะเจอกับคนพาลที่ชอบชักนำไปในทางไม่ดี เช่น ชวนไปสังสรรค์ดื่มเหล้า เราควรจะวางตัวอย่างไรดีเจ้าคะ

คำตอบ: ในสังคมเราหนีคนพาลไม่พ้น แต่ว่าเราก็ต้องแยกออกว่า คนพาลก็มีอยู่ 2 พวก คือ
1. พาลแบบถาวร คือคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เป็นปกติอย่างที่ว่ามา
2. พาลชั่วครั้งชั่วคราว พาลเพราะว่าเผลอไผล สติแตก คือบางครั้งก็คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เมื่ออารมณ์ไม่ค่อยดี แต่ว่าพออารมณ์ดีขึ้นมา ก็คิดดี พูดดี ทำดีเป็น อย่างนี้เป็นพาลชั่วคราว ซึ่งว่าไปแล้วแม้เราเองก็อยู่สังกัดประเภทนี้ ภาษาพระมีคำพูดเพราะๆ อยู่คำหนึ่ง ซึ่งใช้คำว่ากัลยาณพาล พาลพอทนกันได้ พาลพองาม ความจริงพาลแล้วมันไม่งามหรอกแต่ว่า คือพาลพอทนกันได้ พาลพอแก้ไขได้


ในที่ทำงานเรานั้นมีทั้ง 2 ประเภทอยู่ด้วยกัน มีทั้งพาลถาวร และพาลชั่วคราว ตรงนี้ก็วางตัวลำบากหน่อย แต่ก็ต้องหาทางเอาตัวให้รอดจากบาป นรก รอดจากการที่จะกลายเป็นคนพาลถาวรตามเขา เพราะเชื้อพาลเราก็พอมีอยู่แล้ว

ในขั้นต้นดูที่พาลชั่วคราวก่อน เขามีส่วนดีตรงไหน ก็เอาตรงนั้นมาใช้ทำงานร่วมกันไป ส่วนดีนำมาใช้ ในเวลางานความรู้ความสามารถเขามี ก็ทำกันไป แต่เลิกงานไม่เอาด้วย เดี๋ยวชวนเราไปกินเหล้า เอาแต่ส่วนดีที่พอใช้ได้ ส่วนไม่ดี ก็หลบเลี่ยงหลีกไป เป็นการวางตัวขั้นต้นก่อน สำหรับในกรณีที่เขาไม่เลวร้ายจนเกินไป

สำหรับประเภทพาลถาวรที่อยู่ในออฟฟิศเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผู้บังคับบัญชาเราเอง ตรงนี้ต้องบอกว่ามันเป็นเคราะห์กรรมของเรา ภพชาติที่แล้วคงเป็นคนพาลเต็มที่เหมือนเขา พอดีแก้ไขตัวหลุดมาได้ระดับหนึ่ง แต่เขายังแก้ไม่หลุด

โบราณก็เลยสอนไว้ ให้อยู่แบบคนผิงไฟหน้าหนาว หน้าหนาวห่างกองไฟก็หนาว ไปอยู่ใกล้ๆ เดี๋ยวมันก็ไหม้เอา ไม่ใช่ผิงไฟกลายเป็นย่างไฟ เพราะฉะนั้น อยู่กับผู้บังคับบัญชาพาลๆ ทุกอย่างทุกลมหายใจเข้าออก ให้อยู่ในกรอบ ในระเบียบวินัย ยกวินัยมาเป็นกรอบให้ได้ ทั้งวินัยทางโลกและทางธรรม ถือว่าเป็นเกราะหุ้มตัวเรา

จำใจจะต้องทำงานร่วมกันก็ทำ แต่พ้นเวลางานเมื่อไหร่เป็นห่างกันสุดขีด ต้องยอมรับว่ามันเป็นเคราะห์กรรมของเรา มันจะไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ตำแหน่ง เพราะว่าบุคคลคนนี้ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ ปิดนรกให้ตัวเองได้ก็ถือว่าโชคดีแล้ว คิดว่าใช้กรรมเก่าข้ามชาติก็แล้วกัน


ถ้าเราจะต้องอยู่อย่างนี้ ก็ปรับปรุงตัวไปเรื่อยๆ วันใดวันหนึ่งภูมิรู้ภูมิธรรมเราแก่กล้าขึ้น วันนั้นเราค่อยมาคิดแก้ไขคนพวกนี้ ถ้าแก้ไขได้ก็แก้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ อำนาจเรามีพอก็ให้เขาพ้นจากตรงนั้นไป มิฉะนั้นแล้วจะทำให้หน่วยงาน หรือทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อน กลายเป็นพาลตามไปด้วย เราคงทำได้เท่านี้

คำ ถาม: หลวงพ่อเจ้าคะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไม่ให้เราคบคนพาล ให้คบแต่บัณฑิต แล้วบัณฑิตแบบไหน ที่เราควรจะคบหาด้วย ถ้าคบแล้วดีอย่างไรเจ้าคะ

คำ ตอบ: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงชี้ไว้ว่า บัณฑิตคือคนที่คิดดี พูดดี ทำดี เป็นปกติ คือไม่ใช่คิดดี พูดดี ทำดีเป็นครั้งคราว เพราะว่าท่านรู้ดี ถ้าพูดให้ลึก คือท่านเข้าใจถูกในเรื่องโลกและชีวิตเป็นอย่างดี หรือท่านมีความเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างแรงกล้า


จากความที่ท่านเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างแรงกล้าคือ เข้าใจโลกและชีวิตอย่างจริงจัง ทำให้ท่านรู้ไปถึงเรื่องว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรผิดถูก อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรควรไม่ควร เลยไปจนกระทั่งทำกรรมอะไรจึงจะไปนรก ทำกรรมอะไรจึงจะไปสวรรค์ ความที่ท่านรู้ดีอย่างนี้ เข้าใจถูกอย่างนี้ ทำให้ท่านคิดดี พูดดี ทำดีเป็นปกติ ท่านกลัวบาป กลัวนรกยิ่งนัก ใครมาบังคับให้ท่านทำความชั่ว ท่านไม่ยอมทำ ฆ่าท่านให้ตายท่านก็ยอม ตายไปท่านก็มั่นใจว่าท่านไม่ตกนรก เพราะท่านคิดดี พูดดี ทำดีมาตลอดชีวิต นี่คือลักษณะของบัณฑิตที่เด่นชั

เพราะฉะนั้นบุคคลประเภทนี้ ที่คิดดี พูดดี ทำดีด้วยปานนี้ จิตใจของท่านแข็งแกร่งและผ่องใสตลอด และบุคคลอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีใบปริญญา อาจจะอ่านหนังสือไม่ออกก็ได้ เหมือนคุณยายอาจารย์ของเรา คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ว่าสร้างวัดพระธรรมกายไว้ให้เรา สร้างบุญกันมาจนทุกวันนี้ ท่านเป็นบัณฑิตทั้งทางโลกทางธรรม ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องนรกเรื่องสวรรค์นั้นท่านรู้ชัดเจนเลย


ถ้าเราเจอบุคคลอย่างนี้แล้ว เข้าไปคบ คำว่า “คบ” ตรงนี้ ต้องแยกให้ออก คบในฐานะคนระดับเดียวกัน ก็เรียกว่าคบเหมือนกัน ที่เรารู้จักกันมักจะตรงนี้ แต่คบกับผู้มีคุณธรรมในระดับสูงส่งอย่างนี้ แม้เราจะอายุรุ่นเดียวกับท่าน แต่ความที่ภูมิธรรมท่านสูงกว่ามากนัก เขาไม่เรียกว่าคบ เขาเรียกว่าถวายตัวเป็นศิษย์ ต้องเข้าใจตรงนี้ แต่ในสำนวนศาสนาเราก็ยังเรียกว่าคบอยู่ คบในฐานะที่เราเป็นผู้น้อย ทั้งที่เราอายุรุ่นเดียวกัน น้อยด้วยภูมิรู้ภูมิธรรม ถึงอายุจะเท่ากันหรือแก่กว่าท่านอีก ก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะเรานั้นยังโง่ในทางธรรม เรามันยังเป็นพาลอยู่

เมื่อสำนึกรู้ตัวอย่างนี้ไปกราบท่าน หมั่นเข้าไปหา เข้าไปรับใช้ท่านด้วย เพื่อให้ท่านมีเวลาว่าง เพื่อให้ท่านสามารถสังเกตข้อบกพร่องและข้อดีของเราได้ชัดๆ ด้วย ไปรับใช้ท่านอย่างใกล้ชิดด้วยความเต็มอกเต็มใจ เมื่อท่านเห็นความจริงใจของเราที่เข้าไปหาท่าน ไปรับใช้ท่าน ความเมตตาก็จะเกิดขึ้น เมื่อท่านเมตตาต่อเราแล้ว ท่านก็มองเราออกได้ชัดเจน เพราะเราไปรับใช้อย่างใกล้ชิด ท่านก็จะเมตตาสอนให้เรา สอนความรู้ทางโลกบ้าง สอนความรู้ทางธรรมบ้าง เมื่อท่านสอนเราก็ตั้งใจ
1. ฟังคำท่าน
2. ฟังคำท่านแล้วก็ตรองไปด้วย ตรองแล้วก็ตรองอีก ผู้เป็นบัณฑิตมีคุณธรรมสูงส่งแก่กล้าเพียงไหน คำพูดของท่านความหมายกินลึก คำพูดคำเดียวของท่าน บางครั้งเอามาตรองเป็นปี ตรองแล้วก็ทำตามท่าน

ทำตามแล้ว ถ้าให้ดีก็ไปรายงานท่าน บางอย่างเราทำตามแล้วท่านเห็นก็ไม่ต้องรายงาน บางอย่างเราทำตามแล้วท่านไม่เห็น ก็ต้องไปรายงานท่านว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงแม้ทำถูก แต่ว่าจะให้สมบูรณ์มันไม่ง่าย เมื่อไปรายงานเข้า ส่วนที่ขาดท่านจะเติมเต็ม

หลวงพ่อเองก็ทำอย่างนี้ ตั้งแต่มาเจอคุณยายอาจารย์ของเรา ก็เข้ามารับใช้ท่าน ฟังคำท่าน ตรองคำท่าน แล้วก็ทำตามท่าน อย่างนี้เรื่อยมา ก็ได้ความรู้ ได้ความดีมาตามลำดับ ถ้าเรามองภาพอย่างนี้ออก ยอมเข้าไปรับใช้ ฟังคำท่าน ตรองคำท่าน ทำตามท่าน ความรู้ก็จะงอกเงยขึ้นมาอย่างพึ่บพั่บ แบบโอปปาติกะ บุญก็ได้ ความดีก็ได้มาก นิสัยใจคอที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ จะถูกแก้ถูกดัดไปได้โดยง่าย ด้วยฝีมือท่านซึ่งเป็นบัณฑิตตัวจริง

และบางครั้ง หากเราผิดพลาดอะไรไป บางทีมันอาจจะหนักหนาสาหัส จนกระทั่งท่านไล่ไปก็ตามที อย่าหนีไปไหน ให้ห่างไปสักครู่หนึ่ง ให้ท่านหายโกรธ อารมณ์ดี แล้วค่อยกลับไปหาท่านใหม่ ไปรับใช้ท่านต่อ อย่างนี้ ความรู้ความดี ทั้งทางโลกทางธรรมมันไหลเข้ามาในตัวเรา ไม่รู้จบสิ้นเลย จำไว้ให้ดี

-- 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น