วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชวนปลูก4สมุนไพรเด็ด แจกงานมติชนเฮลท์แคร์ 2011

ชวนปลูก4สมุนไพรเด็ด แจกงานมติชนเฮลท์แคร์ 2011
เอ่ยถึงเจ้าวงการผลิตภัณฑ์สมุนไพร ย่อมมีชื่อมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รวมอยู่ด้วย

ในงานมติชน เฮลท์แคร์ 2011 ที่จะจัดวันที่ 16-19 มิ.ย.2554 นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะมาร่วมงานพร้อมกิจกรรมแจกต้นไม้สมุนไพรวันละ 200 ต้น โดยมีต้นรางจืด สมุนไพรล้างพิษ ต้นกระชายดำ สมุนไพรบำรุงคุณผู้ชาย ต้นอัคคีทวาร อ้าซ่วย ยาบำรุงคุณผู้หญิง และว่านหอมแดง แก้หวัด บำรุงเลือด

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น สาธิตการทำอาหารจากรางจืด สลัดรางจืด ยำรางจืด สาธิตการทำกระชายดำ ดองน้ำผึ้ง เคี่ยวยาน้ำมันอัคคีทวาร รวมถึงเปิดให้ชิมชาสมุนไพร กิจกรรม Beauty DIY สวยไปกับผักผลไม้ และการจำหน่ายสินค้าที่มีโปรโมชั่นดึงดูด

ก่อนถึงวันงาน ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรตัวเด็ดมาฝาก


อัคคีทวาร กินแล้วสวย


สมุนไพรชนิดนี้มีการใช้มานับพันปีแล้ว มีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตว่า ภรางคิ (Bharangi) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Clerodendrum serratum (Linn.) อยู่ในวงศ์ Verbenacea เป็นไม้พุ่มยืนต้น ขนาดเล็กสูง 2-3 เมตร เปลือกลำต้นบางผิวเรียบ สีน้ำตาลเข้ม ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกจากลำต้นตรงข้ามกันเป็นคู่แบบสลับ ใบเรียงรูปใบหอกกว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวสด ขอบใบหยักฟันเลื่อยด้วยลักษณะและความสวยงามของดอก ปลูกเป็นไม้ประดับด้วย

อัคคีทวารเป็นที่รู้จักในหมู่หมอยาภาคอีสาน แถวๆ สกลนคร ว่า หมากดูกแฮ้ง ส่วนหมอยาในถิ่นวาริชภูมิจะเรียกว่า "พายสะเมา"

สมุนไพรชนิดนี้ขึ้นอยู่ตามโคกทั่วๆ ไปในอีสาน ชาวบ้านนำช่อดอกมาหมกไฟหรือย่างกินกับซุบหน่อไม้ หมกหน่อไม้ แกงหน่อไม้ ทำสุกแล้วยังมีรสชาติเหมือนกินสดๆ ทางเชียงใหม่เรียก หลัวสามเกียน ไทยใหญ่ เรียก อ้าซ่วย

รากของอัคคีทวารซึ่งมีรสขมเผ็ดร้อน ใช้เป็นยาในหลายระบบคือ ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ขับลม รักษาอาการเบื่ออาหาร แก้ปวดเกร็งในท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน ริดสีดวงทวาร

จากการที่รากอัคคีทวารมีรสขมร้อน จึงช่วยทำให้เสมหะแห้ง จึงช่วยระบบทางเดินหายใจได้ดีเช่น หอบหืด ไอ ริดสีดวงจมูก (อาการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก) แพ้อากาศ

นอกจากนี้ ยังใช้รากสดตำผสมกับขิงและลูกผักชีละลายน้ำรับประทานแก้คลื่นเหียนอาเจียน

รากแห้งหรือลำต้นแห้งนิยมฝนกับน้ำปูนใสให้ข้นๆ เป็นยาเกลื้อนฝี หัวริดสีดวง ทาแผลบวมได้ดีอีกด้วย

ส่วนใบมีฤทธิ์ในการแก้อักเสบ รักษาริดสีดวงทวาร โดยบดเป็นผง หรือจะเคี้ยวใบสดๆ เลยก็ได้ 



หากนำใบไปตากแห้ง ใช้สุมไฟรมแผลฝี รมหัวริดสีดวงทวารให้ยุบฝ่อหายได้ และยังใช้ภายนอกตำพอกรักษาโรคผิวหนังพวกกลากเกลื้อน ดูดหนอง ใช้ตำพอกแก้ปวดขัดตามข้อ แก้ปวดหัวเรื้อรัง

ใบของอัคคีทวารยังมีสรรพคุณแก้จุกเสียดในท้องเช่นเดียวกับราก จึงนิยมใช้ต้มกินแก้ท้องอืดและใช้ใบสดโขลกเอาน้ำกิน

สำหรับสตรี เมื่อคลอดลูกแล้วเพื่อให้มดลูกเข้าอู่และแก้อักเสบ ใบของอัคคีทวารยังนิยมต้มกับขิงกินแก้หลอดลมอักเสบ

ส่วนลำต้น เนื้อไม้มีสรรพคุณในการขับปัสสาวะ ชาวบ้านจึงนิยมฝานลำต้นเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้งต้มกินขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ลดความดัน แก้ปวดท้อง แก้ไข้ป่า ส่วนผลสุกหรือดิบเคี้ยวค่อยๆ กลืนน้ำแก้คอเจ็บแก้ไอ

นอกจากนี้แล้วอัคคีทวารยังนิยมกรอกสัตว์พาหนะ เช่น โค กระบือที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร

ปัจจุบันมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของอัคคีทวารพบว่าอัคคีทวารมีฤทธิ์ต้านการแพ้ ต้านฮิสตามีน ต้านการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิต ฆ่าเชื้อโรค ขับลม


ว่านหอมแดง แก้หวัด บำรุงเลือด


ว่านหอมแดงเป็นไม้ล้มลุกลงหัว หัวเป็นสีแดงถึงข้างใน ใบจีบตามยาวคล้ายพัด ดอกสีขาวคล้ายๆ ดอกกล้วยไม้ ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี

ลักษณะหัวคล้ายหัวหอมแดงที่เราใช้ปรุงอาหารแต่ยาวกว่า และเป็นพืชคนละชนิดกัน ว่านหอมแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eleutherine americana (Aubl.) Merr. ส่วนหอมแดงที่เราใช้ปรุงอาหารมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L.

หมอยาเมืองเลยมักจะเรียกว่านหอมแดงว่า ว่านข้าวแผ่ เพราะคนเมืองเลยจะปลูกไว้ตามคันนาเพื่อทำให้ข้าวออกรวงแผ่ขยายไปมากขึ้น และมักจะเปรียบเปรยว่า ว่านหอมแดงเป็น "ชู้" กับข้าว เพราะที่ไหนมีว่านหอมแดง ข้าวก็มักจะแผ่ไปหาเสมอ

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีโครงการเก็บรวบรวมความรู้สมุนไพรจากหมอยาพื้นบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งเมืองเลย ชาวเขา รวมถึงชาวไทยใหญ่ต่างก็มีวัฒนธรรมการใช้ว่านหอมแดงใกล้เคียงกัน

หมอยาบอกว่า เวลาสังเกตว่าสมุนไพรนั้นรักษาอะไรได้ให้สังเกตจากสีหรือไม่ก็ลักษณะของสมุนไพรนั้นๆ เช่น เพชรสังฆาตมีรูปร่างเป็นท่อนๆ ใช้ต่อกระดูกได้ ตอนหลังก็มีงานวิจัยสนับสนุนมากมายว่าเพชรสังฆาตช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก จนปัจจุบันหลายบริษัทในอินเดียจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงกระดูก

ในส่วนของว่านหอมแดงนั้นด้วยสีแดงก็บ่งบอกว่า บำรุงเลือด โดยต้มกินน้ำก็ได้ หรือต้มกินกับเนื้อสัตว์ ซึ่งการบำรุงเลือดไม่ได้ดีแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับผู้ชายด้วย

การใช้สมุนไพรนี้ของหมอยาภาคใต้จะต่างกันไปหน่อย คือจะนำหัวของว่านหอมแดงมาดองกับน้ำผึ้งรับประทานแก้โรคตับ

นอกจากนั้นแล้ว หมอยาไทยโบราณยังรู้กันโดยทั่วไปว่า ว่านหอมแดง แก้หวัดในเด็ก โดยใช้หัวนำมาทุบให้แตก ผสมกับเปราะหอม เป็นยาสุมหัวเด็ก (โปะกระหม่อมเด็ก) รักษาอาการเด็กเป็นหวัด คัดจมูก หายใจไม่ออกและยังใช้หัวบดทาท้องเด็กแก้เด็กท้องอืด

ในปัจจุบันยังไม่มีงานศึกษาวิจัยว่านหอมแดงมากนัก การค้นพบในปัจจุบันที่สำคัญคือสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ของว่านหอมแดงมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองในแผลที่ดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนนิซิลิน Methicillin-resistant Staphylococccus aureus (MRSA)

เชื่อได้ว่าอีกไม่นานว่านหอมแดงจะเป็นที่สนใจของนักวิจัย โดยเฉพาะในสรรพคุณบำรุงเลือด เพราะโรคภัยไข้เจ็บสมัยนี้ก่อเกิดมาจากเลือดที่ไม่ดีก็มากโขทีเดียว


รางจืด ราชายาแก้พิษ 


จากประสบการณ์ของชาวบ้านไทย เริ่มจากอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ญ.พาณี เตชะเสน เห็นแมวรอดชีวิตจากยาเบื่อด้วยรางจืด จึงวิจัยรางจืดในการแก้พิษยาฆ่าแมลงในปี 2523

ถึงวันนี้มีรายงานศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืด ในการแก้พิษต่างๆ ทั้งพิษจากยาฆ่าแมลง สารหนู สตริกนีน ตะกั่ว เหล้า รวมไปถึงการบำบัดการติดยาเสพติดในกลุ่มยาบ้าและโคเคน

ในตำรายาพื้นบ้าน ระบุว่ารางจืดลดความดันโลหิตดีนัก ตรงกับผลในห้องทดลองยุคใหม่

นอกจากนี้ รางจืดยังมีคุณสมบัติแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใช้ปรุงเป็นยาเขียวถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง แก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ แพ้สารพิษในแม่น้ำที่น้ำเน่า แก้เริมงูสวัด ถอนพิษปวดแสบปวดร้อนจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสโรคเริมได้ดี

ขณะเดียวกัน ยังมีสรรพคุณเป็นหมอผิวหนังชั้นยอด หากอาบน้ำรางจืดต้ม ผิวพรรณจะผุดผ่อง รากรางจืดฝนกับน้ำซาวข้าวทาหน้า หน้าจะขาว สิวฝ้าจะไม่มี

เมื่อเอ่ยถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีแนวโน้มจะนำรางจืดมาใช้ปกป้องสมองจากการทำลายของสารพิษและป้องกันพิษจากการได้รับเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง

รางจืดยังเป็นยา ทำให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย แก้ซางในเด็กน้อย แก้ตับเคลื่อนตับทรุด แก้พิษที่ทำให้เกิดดีซ่าน

การศึกษาสมัยใหม่บอกกับเราว่ารางจืดมีฤทธิ์ป้องกันตับจากการทำลายของสารพิษ

รางจืดเป็นสมุนไพรที่ปลอดภัยสูง ชาวบ้านกินเป็นผัก ปลูกง่าย เพาะพันธุ์ง่าย ใช้ทั้งระดับครัวเรือนไปถึงระดับอุตสาหกรรม มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยกให้รางจืดเป็นสมุนไพรแห่งปี Herb of the year และแชมป์ผลิตภัณฑ์ product champion


กระชายดำ กระชุ่มกระชวย


มีรสขม เผ็ดร้อน บำรุงฮอร์โมนเพศชาย กระตุ้นประสาท ทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอความแก่ ขับลม ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะอาหาร ช่วยย่อย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา บำรุงเลือดสตรี แก้ตกขาว ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ

ตามตำรายาพื้นบ้าน กระชายดำมีสรรพคุณแก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อยปากเป็นแผล แก้ปวดมวนท้อง รักษาโรคปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย รักษาโรคภูมิแพ้ ขับพิษต่างๆ ในร่างกาย รักษาโรคบิด เป็นต้น

ส่วนข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์พบว่า กระชายมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบ เทียบได้กับยาหลายชนิด เช่น แอสไพริน อินโดเมธาซิน และเพรดนิซิโลน

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการวิจัยสนับสนุนสรรพคุณของกระชายดำมากนัก แต่มีการใช้กระชายดำเพื่อเสริมสุขภาพกันมาก ทำให้มีราคาค่อนข้างสูงประมาณ 200-4,000 บาทต่อกิโลกรัม

กระชายดำเป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกับกระชาย สกุล Kaempferia เป็นหัวคล้ายขิง ว่านหรือไพล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia parviflora Wall. Ex Baker วงศ์ ZINGIBERA CEAE

การปลูกใช้หัวหรือเหง้า พันธุ์ที่แก่จัดมีอายุประมาณ 11-12 เดือน แยกหัวโดยหักออกเป็นข้อๆ ตามรอยต่อของหัว ฝังกลบดินให้มิดแต่ ไม่ลึก

ใช้ระยะปลูกระหว่างแถวและระหว่างหลุมเท่ากับ 0.20x0.25 เมตร หรือ 0.25x0.30 เมตร ปลูกเสร็จแล้วใช้แกลบหว่านกลบบางๆ อีกชั้นหนึ่ง

กระชายดำเจริญเติบโตและลงหัวได้ดีในดินร่วนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง ไม่ชอบแดดจัด ชอบแดดร่มรำไร เกษตรกรจึงนิยมปลูกกระชายดำระหว่างแถวไม้ยืนต้น

ตามตำรายาแผนโบราณ แนะให้กินกระชายดำเป็นยาดอง โดยใช้เหง้า (หัวสด) ประมาณ 4-5 ขีด ต่อสุราขาว 1 ขวด ดื่มก่อนกินอาหารเย็นปริมาณ 30 ซีซี หรือฝานเป็นแว่นบางๆ แช่น้ำดื่ม หรือจะดองกับน้ำผึ้ง ในอัตราส่วน 1:1

ส่วนกระชายดำแบบหัวแห้งให้ดองกับน้ำผึ้งแท้ในอัตราส่วน 1:1 นาน 7 วัน แล้วนำมาดื่มก่อนนอน ขณะที่กระชายดำแบบชาชง ใช้ผงแห้งกระชายดำ 1 ซอง ชงน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 120 ซีซี) แต่งรสด้วยน้ำตาล หรือน้ำผึ้งตามต้องการ

ผู้สนใจต้นสมุนไพรตัวใดที่เอ่ยมา ไปรับแจกได้ในงานมติชนเฮลท์ แคร์ 2011
 
 

-- 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น