วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สิ่งดีดี วันละ mail [คลังสุขภาพ]

กฎ 10 ประการ ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วง
โดย kittipanan | วันที่ 20 พฤษภาคม 2554
http://www.thaihealth.or.th/sites/default/files/users/user-12897/a7285----e7e44d8d_30.jpg

โรคอุจจาระร่วง หมายถึงภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวจำนวน 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้จากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอนพยาธิ

อาการและอาการแสดง ในทารกและเด็กเล็กๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเหลวตามมา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการอยู่นาน 1-6 วัน โรคอุจจาระร่วง หรือโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

กฎทอง 10 ประการ ให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วง

1. เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ให้สะอาดทั่วถึง

2. ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน

3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ   

4. หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็นส่วนอาหารสำหรับทารกนั้นไม่ควรเก็บไว้ข้ามมื้อ

5. ก่อนที่จะนำอาหารมารับประทานความอุ่นให้ร้อน

6. ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีก เพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้

7. ล้างมือให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทานและโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ

8. ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง

9. เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ

10. ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารทารกได้

กฎ 3 ข้อ ขององค์การอนามัยโลก

เมื่อประชาชน หรือเด็กในครอบครัว มีอาการของโรคอุจจาระร่วง สามารถเริ่มต้นรักษาได้ที่บ้าน โดยใช้กฎ 3 ข้อ ขององค์การนามัยโลก

1. ให้สารน้ำละลายเกลือแร่โออาร์เอส หรือของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

2. ให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่งดอาหาร เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร

3. เมื่ออาการโรคอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้น ควรไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ อาการเหล่านี้ ได้แก่

- ถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น

- อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้

- กระหายน้ำกว่าปกติ

- มีไข้สูง

- ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือปนเลือด
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  
มีเพื่อนร่วมงานดีชีวิตยืนยาว
โดย sunanta | วันที่ 20 พฤษภาคม 2554
การมีเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนไม่เพียงทำให้ชีวิตในวันทำงานง่ายดายขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้อายุยืนยาวขึ้นด้วย

มีเพื่อนร่วมงานดีชีวิตยืนยาว

งานศึกษาชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยเทล อาวีฟในอิสราเอล และตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ในวารสารเฮลธ์ ไซโคโลจี้ ของสมาคมจิตแพทย์แห่งอเมริกา พบว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนที่ทำงานมีผลต่ออัตราความเสี่ยงเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุ 38-43 ปี

ดร.เอรี ชีรอม และทีมนักวิจัยศึกษาจากประวัติการรักษาพยาบาลของพนักงานออฟฟิศกว่า 800 คนที่ถูกติดตามผลนานถึง 20 ปี นับจากปี 1988-2008 ซึ่งในระหว่างนั้นมีผู้เสียชีวิต 53 ราย รวมทั้งวิเคราะห์จากแบบสอบถามที่ตรวจวัดข้อเรียกร้องในการทำงาน อำนาจการควบคุมและตัดสินใจในที่ทำงาน และการสนับสนุนของเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน

แม้การบ่นเรื่องเจ้านายเป็นหัวข้อยอดนิยมในออฟฟิศ แต่การศึกษาพบว่าการมีหัวหน้างานที่ให้การสนับสนุน ไม่มีผลต่อความเสี่ยงในการเสียชีวิตแต่อย่างใด

นักวิจัยยังพบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเพศชายและเพศหญิง ในเรื่องเกี่ยวกับผลของการมีอำนาจในการควบคุมและตัดสินใจในที่ทำงาน โดยปัจจัยนี้เพิ่มอัตราความเสี่ยงเสียชีวิตในผู้หญิง แต่กลับมีผลในเชิงปกป้องสำหรับผู้ชาย

อำนาจในการตัดสินใจอิงกับความสามารถของพนักงานในการใช้แผนการริเริ่มของตนเอง การมีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีใช้ทักษะและเสรีภาพในการตัดสินใจเพื่อทำให้งานลุล่วง

ชีรอมอธิบายว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในการศึกษาเป็นพนักงานที่ใช้แรงงาน ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ชายมักมีอำนาจควบคุมขณะที่ผู้หญิงไม่มี บ่งชี้ว่าผู้จัดการหญิงมีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับพนักงานชายในบริษัทเดียวกัน มากกว่าผู้จัดการที่เป็นผู้ชาย

ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิง และเวลาทำงานเฉลี่ยคือวันละ 8.8 ชั่วโมง

กลุ่มตัวอย่าง 80% แต่งงานแล้วและมีลูก และเกือบครึ่งเข้ารับการศึกษาอย่างน้อย 12 ปี

นักวิจัยตัดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการเสียชีวิต เช่น ระดับคลอเรสเตอรอล ความดันโลหิต การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า และความวิตกกังวลออก และสุดท้ายพบว่า การมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นมิตรและให้ความช่วยเหลือทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น

นักวิจัยสำทับว่า อายุที่ยืนยาวขึ้นอาจเกี่ยวโยงกับข้อเท็จจริงที่ว่า คนที่มีเพื่อนร่วมงานดีมีความเครียดจากการทำงานน้อยลง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น