วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นักบวชที่คนจีนรู้จัก 4

เกร็ดบู๊ลิ้ม สำนักเส้าหลิน

โดย อ.เซียวหลิบงั้ง (webmaster www.thaitaiji.com)
ตีพิมพ์ในวารสารฮวงจุ้ยกับชีวิตปีที่ 2 ฉบับที่ 16-23

สำนักเส้าหลิน (สำนักเสี้ยวลิ้ม)
ท่านผู้อ่านต้องร้อง อ๋อ.. สำนักนี้รู้จักดีจากนิยายกำลังภายใน และภาพยนต์ที่สร้างเกี่ยวกับสำนัก
นี้กันนับไม่ถ้วน
สำนักเส้าหลินเป็นหนึ่งในสำนักใหญ่ของวิทยายุทธ์จีน มีการบันทึกว่าหลวงจีนแห่งวัดเส้าหลิน
ภูเขาซงซานในสมัยราชวงศ์ถัง จำนวน 13 รูป ได้ช่วยถังไท่จงฮ่องเต้ปราบกบฏได้สำเร็จ มี
คุณูปการต่อราชวงศ์ถัง สำนักนี้มีการถ่ายทอดวิทยายุทธ์ออกไปอย่างกว้างขวาง
วิชามวยของสำนักเส้าหลินมีท่วงท่าที่เหยียดกว้าง แกร่งกร้าว มีพลัง มีการเคลื่อนไหวท่วงท่า
ที่เรียบง่าย สามารถใช้ในการต่อสู้ได้เป็นอย่างดี
สำนักเส้าหลินมีวิชามวยและวิชาอาวุธมากมายหลากหลายชนิด ที่มีชื่อเสียง เช่น หลอฮั่นเฉวียน
(หล่อฮั่งคุ้ง มวยอรหันต์) เผ้าเฉวียน (เพ่าคุ้ง), เหมยฮวาเฉวียน (บ่วยฮวยคุ้ง มวยดอกเหมย)
เส้าหลินกุ้น (เสี้ยมหลิ่มกุ่ง พลองเส้าหลิน) ต๋าหมัวเจี้ยน (ตักหม่อเกี่ยม กระบี่ตั๊กม้อ) เหมยฮวา
เตา (บ่วยฮวยตอ ดาบดอกเหมย) และชุนชิวต้าเตา (ซุงชิวตั่วตอ ง้าวชุนชิว) เป็นต้น
ห้าสำนักใหญ่เส้าหลิน สำนักเส้าหลิน แบ่งออกเป็นห้าสำนักใหญ่ อันมี เอ๋อเหมยเส้าหลิน
(หง่อไบ๊เสี้ยวลิ้ม), อู่ตังเส้าหลิน (บูตึงเสี้ยวลิ้ม), ฝูเจี้ยนเส้าหลิน (ฮกเกี่ยงเสี้ยวลิ้ม), กว่างตง
เส้าหลิน
 (กึงตังเสี้ยวลิ้ม) และเหอหนานเส้าหลิน (ห่อน้ำเสี้ยวลิ้ม วัดเส้าหลินที่เขาซงซาน)
เหอหนานเส้าหลิน ยังแบ่งออกเป็น 3 ตระกูล คือ เส้าหลินตระกูลหง (อั๊ง) วิชามวยเน้นความแข็ง
แกร่ง, เส้าหลินตระกูลข่ง (ข้ง) วิชามวยเน้นด้านอ่อนหยุ่น และเส้าหลินตระกูลหยู (ยู้) วิชามวย
เป็นแนวทางที่ผสมกัน ทั้งด้านแกร่งและอ่อนหยุ่น
เส้าหลินเหนือ และเส้าหลินใต้
การแบ่งเส้าหลินเหนือ - ใต้ อาศัยแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเส้นแบ่งเหนือ - ใต้ ฝั่งใต้ของแม่น้ำแยงซี
เกียงคือ เส้าหลินใต้ เรียกวิชามวยในแถบนี้ว่า หนานเฉวียน (หน่ำคุ้ง มวยใต้) ส่วนฝั่งเหนือของ
แม่น้ำคือ เส้าหลินเหนือ มีฉางเฉวียนเป็นตัวแทนของวิชามวยเหนือ
ปรมาจารย์ต๋าหมัว (ตักม้อ) พวกเรารู้จักและเรียกกันว่า ตั๊กม้อ ท่านเป็นพระในพุทธศาสนาชาวอินเดีย
ได้เดินทางไปยังเมืองจินหลิงในสมัยของกษัตริย์เหลียงอู่ตี้ เพื่อเผยแพร่พระธรรม แต่ไม่ได้ผลดี จึง
เดินทางไปยังทิศตะวันออกไปถึงแคว้นเว่ย และได้ไปถึงวัดเส้าหลินที่เขาซงซาน เห็นว่าเป็นที่สงบ
และเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร จึงได้พำนักอยู่ที่วัดนี้ ท่านปรมาจารย์ต๋ำหมัวได้นั่งหันหน้าเข้าผนังถ้ำ
บนเขา เข้าฌาณเป็นเวลา 9 ปี ภายหลังได้ถ่ายทอดธรรมะให้แก่มหาสมณะฮุ่ยเข่อ (หุ่ยข้อ) ซึ่งเป็น
ศิษย์ เป็นอาจารย์องค์ที่ 1 แห่งพุทธศาสนานิกายเซน
ปรมาจารย์ตักม้อ


หลวงจีนวัดเส้าหลิน

วัดเส้าหลิน

วัดเส้าหลิน เป็นชื่อวัดทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในประเทศจีน วัดเส้าหลินในจีนมีอยู่ 3 แห่ง
ด้วยกัน แห่งแรกอยู่ที่เมืองเฉวียนโจว (จั่วจิว) ในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) แห่งที่สองอยู่ที่ตำบลจี้
(กี๋) ในมณฑลเหอเป่ย และแห่งที่สามอันมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ วัดเส้าหลิน ที่ตำบล
เติงเฟิง (เต็งฮง) ในมณฑลเหอหนาน
ซงซาน (ซงซัว) คือชื่อภูเขาที่เป็นที่ตั้งของวัดเส้าหลิน มีอีกชื่อว่าซงเกา ซงซานเป็นหนึ่งในห้า
ขุนเขา ที่เขานี้มียอดเขาสามยอด ยอดกลางมีชื่อว่าจวิ้นจี๋ (จุ้งเก๊ก) ยอดทางทิศตะวันออกมีชื่อว่า
ไท่สื้อ (ไท่สิก) ส่วนยอดทาง ทิศตะวันตกมีชื่อว่าเส้าสื้อ (เซียวสิก)
วัดเส้าหลินซงซาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาซงซานที่ชื่อว่า เส้าสื้ออยู่ในตำบลเติงเฟิง (เต็งฮง)
มณฑลเหอหนาน วัดนี้สร้างขึ้นในปีรัชกาลไท่เหอ ในราชวงศ์เว่ย (งุ้ย) ต่อมาสุยเหวินตี้ฮ่องเต้
(สุ่ยบุ่งตี่) ในราชวงศ์สุยได้เปลี่ยนชื่อเป็นจื้อฮู่ (เท็กหู) สืบต่อมาในราชวงศ์ถัง ได้เปลี่ยนชื่อกลับมา
เป็นเส้าหลินตามเดิม

ในวัดมีป้ายหินซึ่งเจ้าฉินอ๋อง (คือหลี่ซื่อหมิน ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นถังไท่จง ฮ่องเต้แห่งราช
วงศ์ถัง) ในสมัยของถังอู่เต๋อ (ถั่งบูเต็ก) หลี่เอียนซึ่งเป็นพระบิดาของเจ้าฉินอ๋อง ได้พระราชทาน
ให้แก่วัดเส้าหลิน มีคำจารึกคำสรรเสริญคุณูปการของพระวัดเส้าหลินที่ช่วยปราบกบฏจนสำเร็จ
เส้าหลินอู่เฉวียน (เสี้ยวลิ้มโหงวคุ๊ง) เป็นวิชามวยของวัดเส้าหลิน มีห้าวิชาที่ถือว่าเป็นยอดวิชา
หมัดมวย ห้าวิชานี้มี หลงเฉวียน (เหล่งคุ้ง มวยมังกร) ใช้ฝึกจิตฝึกสติ หู่เฉวียน (โหวคุ้ง มวย
พยัคฆ์) ใช้ในการฝึกกระดูก ป้าเฉวียน (ป้าคุ้ง มวยเสือดาว) ใช้ฝึกพลัง เสอเฉวียน (จั่วคุ้ง มวยงู)
ใช้ฝึกพลังปราณ (ชี่) เฮ่อเฉวียน (เหาะคุ้ง มวยกระเรียน) ใช้ฝึกจิง (เจ็ง ในทางการแพทย์จีน
ในร่างกายคนเรามีสารสำคัญอยู่ในร่างกายที่เรียกว่าสารจำเป็น) วิชามวยทั้งห้าชนิดนี้ ท่าน
ปรมาจารย์ต๋าหมัวเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาถ่ายทอดให้กับพระในวัด
เส้าหลินสือปาหลอฮั่นโส่ว (เสี้ยวลิ้มจับโป้ยหล่อฮั่งชิ่ว) วิชานี้ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์
เหลียง โดยท่านปรมาจารย์ต๋าหมัวเป็นผู้คิดค้นขึ้น ท่านต๋าหมัว เมื่อมาอยู่ที่วัดเส้าหลินได้เห็นเหล่า
พระเณรขาดความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีอาการง่วงเหงาหาวนอน เวลาฟังท่านบรรยายธรรมก็ไม่มี
สมาธิ ท่านจึงได้คิดค้นวิธีการบริหารแก่เหล่าพระเณรในวัด ซึ่งมีทั้งหมด 18 ท่า มีชื่อเรียกคือ
เฉาเทียนจื๋อจวี่ (เฉี่ยวเทียงติกกื้อ) 2 ท่า
ไผซานอวิ้นจ่าง (ไป่ซัวอุ่งเจี้ย) 4 ท่า
เฮยหู่เซินเอียว (เฮ็กโฮ่วซุงเอีย) 4 ท่า
อิงอี้ซูจั่น (เอ็งเอ๊กซูเตี้ยง) 1 ท่า
อีโจ่วโกวเซียง (อิ๊บอิ้วเกาเฮง) 1 ท่า
หวั่นกงไคเก๋อ (มังเก็งไคแกะ) 1 ท่า
จินป้าลู่เจ่า (กิมป่าโล้วเยี่ยว 1 ท่า
ถุ่ยลี่เตียต้าง (ถุยลักเตียกตั๋ง) 4 ท่า
(4 ท่านี้เป็นท่าเท้า นอกนั้นเป็นท่ามือ)
คัมภีร์อี้จินจิง
ศิษย์เส้าหลินยุคปัจจุบัน

อี้จินจิง (เอ็กกึงเก็ง) คือคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น ท่านปรมาจารย์ต๋าหมัวเป็นผู้คิดค้นขึ้น และได้ถ่าย
ทอดให้กับเหล่าศิษย์ ท่านต๋าหมัวได้รจนาคัมภีร์ขึ้นสองฉบับ หนึ่งคือ สีสุ่ยจิง (เซยชวยเก็ง) คือ
คัมภีร์ล้างไขกระดูก ได้ถ่ายทอดคัมภีร์นี้ให้แก่ท่านฮุ่ยเข่อ (หุ่ยข้อ) ไม่ได้ถ่ายทอดแก่คนทั่วไป
คัมภีร์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกตามวิถีทางก่อนกำเนิด (เซียนเทียน) ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือ อี้จินจิง
(เอ็กกึงเก็ง)
 ได้ถ่ายทอดให้แก่เหล่าศิษย์ในวัดเส้าหลิน และได้มีการถ่ายทอดเรื่อยมาจนถึงยุค
ปัจจุบัน อี้จินจิงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกฝนกระดูกและเส้นเอ็นให้แข็งแรงเป็นการฝึกตามวิถี
ทางหลังกำเนิด (โฮ่วเทียน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น