วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

วัดร่องขุน (Wat Rong Khun)


วัดร่องขุน (Wat Rong Khun)



         เมื่อเราไปถึงเชียงราย จังหวัดเหนือสุดในสยาม เราก็คงคิดถึงธรรมชาติบนดอยที่สวยงาม อย่างเช่น แม่ฟ้าหลวง ดอยตุง และวัฒนธรรมอันงดงาม แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะไม่นึกถึงไม่ได้ นั่นคือ วัดร่องขุน โดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
 
ดังนั้นวันนี้ผมขอพาทุกคนไปชมความงดงามของวัดร่องขุนพร้อมทำความรู้จักกับวัดนี้กันครับ....


วัดร่องขุ่น
 
วัดร่องขุ่น (Wat Rong Khun) ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2540 จากเดิมมีเนื้อที่3 ไร่ ได้ซื้อที่ดินเพิ่มและมีผู้บริจาคคือคุณวันชัย วิชญชาคร จนปัจจุบันมีเนื้อที่9 ไร่ และมีพระกิตติพงษ์ กัลยาโณ รักษาการเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
 
            อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างวัดมาจาก 3 สิ่งต่อไปนี้คือ

ชาติ : ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน

ศาสนา : ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา

พระมหากษัตริย์ : จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง ทำให้อาจารย์เฉลิมชัยรักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงปรารถนาที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน

วัดร่องขุ่น
 
                                            (ป้ายก่อนเข้าวัด พร้อมมีขวดเหล้ายี่ห้อหนึ่ง...)

ที่ตั้ง


วัดร่องขุ่น อยู่ในท้องที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดบ้านเกิดของอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องขุ่นอยู่ก่อนตัวเมืองเชียงรายประมาณ13 กิโลเมตร ตรงสามแยกไฟแดงทางเข้าน้ำตกขุนกรณ์ จะเป็นที่ตั้งของวัดร่องขุ่น ซึ่งห่างถนนใหญ่เพียง100 เมตร เท่านั้น

 
วัดร่องขุ่น
 
(ทางขึ้นไปยังอุโบสถ ซึ่งขึ้นแล้วห้ามถอยหลังกลับมา เพราะจะกลับมาตกนรกอีกครั้ง)
 
วัดร่องขุ่น
 
(สภาพขุมนรกที่เต็มไปด้วยบาป สังเกตเห็นเล็บสีแดงไหมครับ...)

ความหมายของอุโบสถ


สีขาว : พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
สะพาน : การเดินข้ามจากวัฎสงสารสู่พุทธภูมิ
เขี้ยว หรือ ปากพญามาร : กิเลสในใจ
สันของสะพาน : มีอสูรอมกัน ข้างละ 8 ตัว 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16
กึ่งกลางของสะพาน : เขาพระสุเมรุดอกบัวทิพย์ : มี 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
บันไดทางขึ้น : มี 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


วัดร่องขุ่น
 
(ทางขึ้นไปยังอุโบสถ โดยผ่านนรกขนาบข้าง)

การเดินทางก็ไม่ยากครับ.... 

         ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสายเชียงราย– กรุงเทพฯ ผ่าน จ.พะเยา ผ่าน อ.แม่ใจ จ.พะเยา เข้า อ.พาน จ.เชียงราย ขับรถมุ่งหน้าไปทาง จ.เชียงรายเรื่อยๆ พอออกจากตัว อ.พาน จะข้ามสพานแม่ลาว (แม่น้ำลาว) ขับรถไปซักพักจะถึงแยกปากทางแม่สรวย (แยกไป อ.แม่สรวย และไป จ.เชียงใหม่) ขับรถต่อไปอีกซักประมาณ10 ก.ม ก่อนจะถึงแยกขุนกรณ์ (ทางไปน้ำตกขุนกรณ์) ประมาณ200 เมตร ถ้ามองดูทางด้านซ้ายมือ จะเห็นตัววัดสีขาวสะดุดตายิ่งนัก เมื่อถึงทางแยกให้เลี้ยวซ้ายไปทางน้ำตกขุนกรณ์ วัดร่องขุ่นจะอยู่เข้าไปประมาณ100 เมตร ซึ่งวัดร่องขุ่นจะอยู่ก่อนถึงตัวเมืองเชียงราย13 ก.ม ตรงหลัก ก.ม ที่816 ถนนพลหลโยธิน (หมายเลข1/A2 )

        ถ้ามาจาก อ.แม่สาย มาจากสนามบินนานาชาติเชียงราย หรือตัวเมืองเชียงราย ให้มาทางทิศใต้ ทางไป อ.พาน จ.เชียงราย ทางไป จ.พะเยา เมื่อออกจากตัวเมืองเชียงราย จะผ่านแยกไฟแดงสถานีขนส่งแห่งที่2 ขับตรงมาเรื่อยๆ จนถึงไฟแดง แยกขวา แยกขุนกรณ์ (ทางไปน้ำตกขุนกรณ์) ให้เลี้ยวขวาเข้ามา ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายไม่กี่นาทีก็จะถึงวัดร่องขุ่น

        ถ้ามาจาก จ.เชียงใหม่ ให้มาทาง อ.ดอยสะเก็ด เข้า อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย มาเรื่อยๆ ผ่าน อ.แม่สรวย มาจนถึง สามแยกปากทางแม่สรวยให้เลี้ยวซ้ายไปทาง จ.เชียงราย (เลี้ยวขวาไป อ.พาน, ไป จ.พะเยา) จากปากทางแม่สรวยขับไปทางตัวเมืองเชียงรายประมาณ10 ก.ม จนถึงแยกขุนกรณ์ (ทางไปน้ำตกขุนกรณ์) ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป

วัดร่องขุ่น
(บริเวณรอบวัด)

วัดร่องขุ่น
 
(ส่วนบริเวณห้องน้ำ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็จะไหว้ก่อน...)

วัดร่องขุ่น

วัดร่องขุ่นเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา6.30 – 18.00 น.

ห้องแสดงภาพ : เปิดให้เข้าชมวันจันทร์– ศุกร์ เวลา8.00 – 17.30 น.
วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา8.00 – 18.00 น.


สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่...
สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย โทร.053-716519
ศูนย์บริหาร จัดการ การท่องเที่ยว จ.เชียงราย โทร.053-715690
วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย57000 โทร.053-673579
หรือ www.วัดร่องขุ่น.com


--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น