เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี
ใครที่ยังชื่นชอบกลิ่นอายของวันวาน พร้อม ๆ กับอยากสัมผัสอดีตกาล วันนี้เราขอแนะนำให้ไปเที่ยว "จังหวัดสุพรรณบุรี" เพราะที่นั่นยังเก็บเกี่ยวเรื่องราวในอดีตไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยบอกเล่าอดีตเมืองสุพรรณ ผ่านวิถีชีวิตของชุมชนเก่าแก่ใน 7 ตลาดเก่าเมืองสุพรรณ แต่จะมีที่ไหนบ้างนั้น ตามเราไปเที่ยวกันเลย...
ตลาดสามชุก
ตลาดสามชุก หรือ ตลาดริมน้ำร้อยปี ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 แยกเข้าอำเภอสามชุก อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก เป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพบ้านเรือน และตลาดแบบดั้งเดิม
สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารไม้โบราณติดลูกไม้ขนาด 3 ชั้นของขุนจำนงค์ จีนารักษ์ นายภาษีเก่า ซึ่งท่านเจ้าของตลาด มอบให้เป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่ายวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อน ร้านถ่ายรูปโบราณ ที่ยังมีกล้องถ่ายภาพเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีให้บริการ ร้านขายยาสมุนไพร และเพลิดเพลินกับขนม อาหารพื้นเมือง และกาแฟโบราณที่ยังใช้เครื่องคั่วกาแฟแบบดั้งเดิมบริเวณริมน้ำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 3550 4498 begin_of_the_skype_highlighting 0 3550 4498 end_of_the_skype_highlighting
ตลาดเก้าห้อง
ตลาดเก้าห้อง เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองริมแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือแม่น้ำท่าจีนเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ปัจจุบันเป็นตลาดเล็ก ๆ ในชุมชนเก่าแก่ ที่หลงเหลือร่องรอยของความอุดมสมบูรณ์เพียงแห่งเดียว ในลุ่มแม่น้ำท่าจีน ตั้งอยู่ในเขตหมู่ ที่ 2 เทศบาลตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเส่นห์และหลงเหลือตำนานเล่าขาน สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณบุรี
ส่วนคำว่า "เก้าห้อง" นำมาจากชื่อ "บ้านเก้าห้อง" ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังจากที่มีชุมชนหนาแน่นแล้ว ก่อสร้างโดยคหบดีเชื้อสายจีน คือ นายบุญรอด เหลียงพานิช เดิมชื่อ ฮง บิดาเป็นคนจีนอพยพมาทำการค้าขายที่ริมแม่น้ำสุพรรณ ได้แต่งงานกับ นางแพ หลานสาวของ ขุนกำแหงฤทธิ์ (เป็นนายกองส่วย เก็บส่วยให้กับราชการและเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน) เจ้าของบ้านเก้าห้อง แล้วจึงปลูกแพค้าขายหน้าบ้านขุนกำแหงฤทธิ์
ต่อมาโจรมาปล้นแพของนายบุญรอด ได้ทำร้ายนางแพจนตาย และได้ทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ต่อมาทางอำเภอได้จับโจรได้ จึงนำเงินมาคืนต่อ นายบุญรอด (ฮง) และได้แต่งงานใหม่กับ นางส้มจีน จึงคิดสร้างตลาดเพื่อค้าขายไว้บนบก ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำตรงข้ามฝั่งบ้านเก้าห้อง และตั้งชื่อตลาดว่า "ตลาดเก้าห้อง" อีกทั้งยังสร้าง ป้อมดูโจร หรือ หอดูโจร ลักษณะของป้อมก่ออิฐถือปูนแบบที่สร้างเป็นสถาปัตยกรรมจีน ขนาดกว้าง 2.50 x 2.50 เมตร สูงราว 15 เมตร เพื่อใช้เป็นที่สำหรับเวรยามประจำอยู่ภายในป้อม จะเจาะช่องไว้สำหรับส่องดูโจรผู้ร้าย และให้ปืนสามารถส่องออกมาได้สำหรับยิงโจรผู้ร้ายที่จะมาปล้นได้
ตลาดเก้าห้อง แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ตลาด คือ ตลาดบน มีอายุประมาณ 74 ปี ลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น คุมด้วยหลังคาสูง แบบสถาปัตยกรรมจีนปนไทย ประมาณ 20 ห้อง พระชาญสุวรรณเขต เป็นผู้สร้าง สิ่งที่น่าสนใจ คือ ฮู้ใหญ่โบราณ และ ม่านชักรอก (ม่านบังแสงภูมิปัญญาชาวบ้าน), ตลาดกลาง สภาพเดินเป็นโรงสีของ "นายทองดี" ต่อมาสร้างเพิ่มเติมอีก 10 ห้อง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนในอดีต มีท่าเรือที่สำคัญในการขนส่งซื้อขายสินค้าข้าวสาร อีกทั้งยังมีท่าเรือในการรับส่งชาวบ้านในตลาด รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียงที่ต้องการเดินทางไปยังตัวเมือง สิ่งที่น่าสนใจ คือ โรงสีเก่า, สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์, มิวสิควีดีโอ, เครื่องพิมพ์โบราณ อายุ 80 ปี และบ้านสะสมเหล้าเก่า และ ตลาดล่าง มีอ่ายุประมาณ 104 ปี ลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น แบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต สิ่งที่น่าสนใจ คือ หอดูโจร และ พิพิธภัณฑ์บ้านเก้าห้อง
ติดต่อสอบถามข้อมูลหรือศึกษาข้อมูล ได้ที่ เทศบาลตำบลบางปลาม้า โทรศัพท์ 035-5874227 , 035-586408 begin_of_the_skype_highlighting 035-586408 end_of_the_skype_highlighting หรือที่ www.Bangplama.org / E-mail : banplama99@hotmail.com
ตลาดบ้านสุด
ตลาดบ้านสุด เป็นตลาดสุดท้ายริมคลองบางยี่หน ซึ่งเป็นคลองขุดเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะพ้นเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ชาวตลาดบ้านสุดได้จัดให้มีพิธีการทำบุญก่อตั้งตลาด และได้นิมนต์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มาทำพิธีทำบุญตลาดและโปรยทรายเสกบริเวณรอบ ๆ ตลาดเพื่อเป็นสิริมงคล ลักษณะของตลาด เริ่มจากตลาดหลัก ซึ่งเป็นเหมือนรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น มีห้องแถวไม้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ที่เรียกว่า ตลาดบน ตลาดน้ำ และตลาดนายห้าง ซึ่ง ตลาดบน และ ตลาดน้ำ เป็นตลาดของ เถ้าแก่แดง เป็นตลาดใหญ่และถือกันว่าเป็นตลาดเก่าของชาวบ้านสุด บางทีเรียกกันว่า "ตลาดเก่าบ้านสุด"
ขณะที่ ตลาดบน เป็นตลาดที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ที่สุดของ ตลาดบ้านสุด ประกอบด้วยห้องแถวไม้ชั้นเดียว ประมาณ 50 ห้อง มุมหนึ่งของ ตลาดบน เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าประจำตลาดใกล้ ๆ กับศาลเจ้ามีบ้านไม้สองชั้นหลังใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของตลาดและลูกหลานของท่าน ชาวตลาดบ้านสุดเรียกบ้านหลังนี้ว่า "บ้านใหญ่" หลังบ้านใหญ่เป็นตลาดที่ประกอบด้วยห้องแถวไม้ 2 ชั้น ประมาณ 15 ห้อง ที่เรียงกันเป็นรูปตัวแอล เรียกตลาดนี้ว่า ตลาดน้ำ แต่เดิม ตลาดน้ำ มีลักษณะพิเศษ คือ ห้องชั้นล่างอยู่ติดดิน ปกติจะทำมาค้าขายกันในห้องชั้นล่าง พอถึงฤดูน้ำก็ยกข้าวของขึ้นไปขายกันบนชั้นสอง เพราะน้ำท่วมห้องชั้นล่าง แต่ระยะหลังร้านค้าในตลาดเลิกประเพณีดั้งเดิม คือ เวลาน้ำลดก็ไม่ยกของลงมาขายชั้นล่างอีก ค้าขายกันอยู่ที่ชั้นบนของตลาดทั้งปี เข้าใจว่าเริ่มเบื่อหน่ายถึงภาระ และค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการขนย้ายสินค้า
ส่วน ตลาดนายห้าง เป็นตลาดที่สร้างขึ้นมาภายหลัง เรียกชื่อตลาดตามชื่อที่คนทั่วไปเรียกเจ้าของตลาดว่า "นายห้าง" ตลาดประกอบด้วยห้องแถวไม้ชั้นเดียว ประมาณ 20 ห้อง ยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำท่วมในฤดูน้ำ ท้ายตลาดติดคลอง มีท่าเรือใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม ของชาวตลาดบ้านสุดในสมัยนั้น เพราะเรือเกือบทั้งหมดจะจอดรอรับผู้โดยสารท่าเรือแห่งนี้
ตลาดศรีประจันต์ บ้านเจ้าคุณฯ
ตลาดศรีประจันต์ เป็นตลาดค้าส่งในอดีตริมแม่น้ำท่าจีน อายุราว 100 ปี ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2551 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณไปทางทิศเหนือ 20 กิโลเมตร อาคารส่วนใหญ่เป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น แม้ในปัจจุบันจะลดความคึกคักลงไปบ้าง แต่ในทุกวันเสาร์ อาทิตย์ชาวบ้านจะเปิดร้านจำหน่ายอาหารคาวหวานรสชาติดั้งเดิม อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า หมี่กรอบ กาแฟโบราณ และขนมต่าง ๆ ทั้งแบบไทยและจีน
ใน ตลาดศรีประจันต์ มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษา คือ บ้านเจ้าคุณ ป.อ.ปยุตโต ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นคนดีศรีประจันต์ และเป็นพระสงฆ์ไทยซึ่งได้รับการยกย่องเป็นกวีทางศาสนาพุทธ และเป็นเพชรน้ำเอกของโลก มีผลงานในการเขียนหนังสือกว่า 300 เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บ้านของท่านซึ่งเคยเป็นร้านขายผ้าเมื่อในอดีต ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่สภาพเดิม รวมทั้งเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้เมื่อยุคเกือบ 100 ปีก่อนไว้อย่างดี
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนตลาดศรีประจันต์ยังสามารถสักการะศาลเจ้า แม่กวนอิม หรือล่องเรือชมแม่น้ำท่าจีนได้ ส่วนการเดินทางโดยรถโดยสาร สามารถใช้บริการรถสองแถวสายสุพรรณ-ศรีประจันต์ มาลงที่ตลาดศรีประจันต์โดยตรง
ตลาดท่าช้าง
ตลาดท่าช้าง เป็นตลาดเก่าแก่อีกตลาดหนึ่ง ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี เช่น เดียวกันชุมชนตลาดเก่าหลาย ๆ แห่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ตลาดท่าช้าง เป็นตลาดใหญ่เหนือสุดริมแม่น้ำท่าจีน ถือว่าเป็นแหล่งต้นทางของแม่น้ำท่าจีนที่พาดผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งศูนย์รวมการค้าใหญ่อีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี การค้าขายในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองมาก
จนกระทั่งวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ได้เกิดเพลิงไหม้เผาผลาญ ตลาดท่าช้าง วอดเกือบหมด เผาผลาญบ้านเรือนกว่า 600 หลัง ซึ่งเพลิงได้ทำลายความสวยสดงดงามของบ้านเรือนเก่าแก่ อันเป็นวิถีชีวิตในอดีตของชาวตลาดท่าช้างจนหมด แต่ชาว ตลาดท่าช้าง ก็ยังคงสร้างตัวจนกลับมาเจริญได้อีกครั้ง ถึงแม้สภาพตลาดเก่าส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปหมด แต่บางส่วนที่คงเหลือก็ยังคงมีเสน่ห์ และที่สำคัญชาวตลาดท่าช้างยังคงรักษาวัฒนธรรมการกินได้เป็นอย่างดี มีอาหารทั้งเก่าและใหม่ที่อร่อยมากมายหลายชนิด หากมีโอกาสเข้ามาเยือน ตลาดท่าช้าง เชิญลองชิมอาหารในเขตตลาดท่าช้างได้
ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือ ตลาดเก่าเมืองสุพรรณบุรี 200 ปีที่ยืนยง ตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง ในอดีตชาวบ้านมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า ตลาดทรัพย์สินฯ หรือ ตลาดเก่า เป็นตลาดริมน้ำ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนมีอายุกว่า 100 ปี ก่อสร้างโดย ขุนเกษตร พิหารแดง ผู้ดูแลสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น แต่ถ้านับย้อนไปถึงวันที่คนรุ่นแรกมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ก็นับย้อนไปได้ถึง 200 ปี
ตลาดทรัพย์สินฯ ก็คล้ายกับตลาดริมน้ำโดยทั่วไป ที่เป็นชุมชนค้าขายของชาวจีนผู้ขยันขันแข็ง ตื่นแต่เช้าก่อนฟ้าสว่างเพื่อจัดเตรียมสินค้า รอเวลาที่ลูกค้าจะมาถึง ซึ่งมักจะมาทางเรือ ทั้งเรือแจว เรือพาย เรือยนต์ ตลอดจนเรือเมล์ที่วิ่งรับส่งสินค้าและผู้โดยสารประจำเส้นทาง ตลาดทรัพย์สินฯ จึงมีอีกชื่อหนึ่งที่ผู้คนก็ชอบเรียกว่า "ตลาดท่าเรือเมล์" บ่งบอกถึงความเจริญเติบโตของการค้า และความหนาแน่นของผู้คน
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดทรัพย์สินฯ จึงอยู่กับความเงียบเหงา ทิ้งความจอแจ ความอีกทึกไว้เบื้องหลัง ชาวบ้านร้านตลาดจำนวนหนึ่งตระหนักถึงความไม่เที่ยงนี้ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนา ตลาดทรัพย์สินฯ ในเชิงอนุรักษ์ขึ้น หวังให้ "ตำนาน" ของชุมชนได้ถูกเล่าขานต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ยินดี และภาคภูมิใจไปกับการเล่าเรื่องราวของตนเองต่อนักเดินทางผู้มาเยือน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โทรศัพท์ 035-511088 begin_of_the_skype_highlighting 035-511088 end_of_the_skype_highlighting, คณะกรรมการรวมใจพัฒนาตลาดทรัพย์สิน โทรศัพท์ 035-511314 begin_of_the_skype_highlighting 035-511314 end_of_the_skype_highlighting, 081-5872819 begin_of_the_skype_highlighting 081-5872819 end_of_the_skype_highlighting
ตลาดโพธิ์พระยา
ตลาดโพธิ์พระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิมที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2468 ภายหลังจากการสร้างเขื่อนประตูน้ำโพธิ์พระยา สภาพเดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ชาวไทยเชื้อสายจีนได้รวมตัวกันประกอบอาชีพค้าขาย มีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้ามาแต่อดีต เนื่องจากการติดต่อกับตังเมืองสุพรรณบุรี จะต้องใช้เส้นทางทางน้ำเป็นทางสัญจร ตลาดโพธิ์พระยา จึงเป็นจุดรวมของผู้คนที่ต้องการเดินทางสัญจรไปมาระหว่าง โพธิ์พระยา กับตัวเมืองสุพรรณบุรี
ในปี พ.ศ. 2540 ชาวตลาดโพธิ์พระยาต้องประสบอัคคีภัยเป็นครั้งแรก สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทางสุขาภิบาลโพธิ์พระยา จึงได้ดำเนินการก่อสร้าง ตลาดสดโพธิ์พระยา ขึ้นมา เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน และในเวลาต่อมา ตลาดโพธิ์พระยา ก็ได้เกิดอัคคีภัยเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2547 ส่งผลให้ชาวตลาดโพธิ์พระยาได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างแสนสาหัส อาคารโครงสร้างไม้เดิมได้ถูกเพลิงไหม้เสียหาย จำนวน 41 หลัง ทรัพย์สินมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านในพริบตา ปัจจุบันบริเวณที่ดินเดิม ได้ดำเนินการพัฒนาก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์สองชั้นครึ่ง จำนวน 81 ห้อง เพื่อให้ ตลาดโพธิ์พระยา กลับมามีชีวิตชีวาเฉกเช่นเคย
และนี่คือ 7 ตลาดเก่าคู่เมือง "สุพรรณบุรี" หากใครยังคิดถึงความทรงจำในวันวาน ก็อย่าลืมแวะเวียนไปท่องเที่ยวนะจ๊ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น